Bangpakok Hospital
  • A
  • A
  • A
BPK Hotline

โรค IPDในเด็ก คืออะไร?

21 พ.ย. 2566


   IPD ย่อมาจาก Invasive Pneumococcal Disease คือโรคติดเชื้อชนิดลุกลามที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรียชื่อ “นิวโมคอคคัส” ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรือปอดอักเสบรุนแรง จนอาจทำให้เด็กพิการหรือเสียชีวิตได้โดยเฉพาะเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เนื่องจากภูมิต้านทานโรคน้อย และยังไม่สามารถบอกอาการเจ็บป่วยได้
  เชื้อนิวโมคอคคัส มีชื่อเต็มว่า Streptococcus pneumoniae เชื้อนี้พบได้ทั่วไปในโพรงจมูกและลำคอทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ซึ่งสามารถแพร่กระจายสู่ผู้อื่นได้ง่าย คล้ายไข้หวัด และทำให้เกิดโรคได้ในทุกกลุ่มอายุ ส่วนใหญ่ถ้าร่างกายแข็งแรงก็จะไม่แสดงอาการแต่เมื่อใดที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อนี้สามารถทำให้เกิดโรคร้ายแรงขึ้นได้ โดยเฉพาะเด็กเล็กซึ่งยังสร้างภูมิคุ้มกันได้น้อย ผู้สูงอายุและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง

หากติดแล้วจะส่งผลทำให้เกิดอาการอะไรได้บ้าง
อาการมีได้หลายอย่างขึ้นกับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ หากเป็นโรคปอดอักเสบ มักจะมีอาการ ไข้ ไอ หายใจหอบเหนื่อย หากมีการติดเชื้อที่ระบบประสาท เช่น
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง
  • ปวดศีรษะรุนแรง
  • คลื่นไส้
  • อาเจียน
  • คอแข็ง
  ในเด็กเล็กจะมีอาการงอแง ซึม ชัก หากเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ผู้ป่วยก็จะมีอาการไข้สูง หายใจเร็ว หัวใจเต้นเร็ว อาจมีภาวะช็อค และอาจเสียชีวิตได้ นอกจากนี้เชื้อนิวโมคอคคัสยังสามารถทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้อีกหลายชนิด เช่น
  • โรคไซนัสอักเสบ
  • โรคหูชั้นกลางอักเสบ
  • อาการปอดอักเสบหรือปอดบวม
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบ
  • กระดูก ข้ออักเสบ
  • เยื่อบุช่องท้องอักเสบ
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
วิธีปกป้องลูกน้อยให้ห่างไกลจากโรคไอพีดี
   ทำได้โดยการหลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่แออัดโดยไม่จำเป็น รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ล้างมือบ่อยๆ ในผู้ที่มีอาการไข้ ไอ ควรปิดปากและจมูกเวลาไอหรือจาม ควรสวมหน้ากากอนามัย ซึ่งจะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ เช่นเดียวกับการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจ หรือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันอย่างเหมาะสม
 
สร้างภูมิคุ้มกันปกป้องลูกน้อยด้วย “วัคซีนไอพีดี”
  นอกจากการลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ การสร้างภูมิคุ้มกันปกป้องตั้งแต่ต้น จะลดความรุนแรงของโรคและการเสียชีวิตได้ ในปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันโรคไอพีดี ที่สามารถใช้ในเด็กเล็กได้ ทั้งหมด 3 ชนิด คือ
  • วัคซีนชนิด 10 สายพันธุ์ (PCV10) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 10 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 4, 5, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19F และ 23F
  • วัคซีนชนิด 13 สายพันธุ์ (PCV13) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 13 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14, 18C, 19A, 19F และ 23F
  • วัคซีนชนิด 15 สายพันธุ์ (PCV15) ป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส 15 สายพันธุ์ ได้แก่ 1, 3, 4, 5, 6A, 6B, 7F, 9V, 14 18C, 19A, 19F, 22F, 23F และ 33F
ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรค IPD เมื่อไหร่…?
   นอกจากการหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆแล้ว การป้องกันด้วยวัคซีนไอพีดี ก็เป็นอีกทางหนึ่งในการปกป้องลูกน้อย โดยส่วนมากแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เพราะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดรุนแรง โดยเริ่มฉีดได้เมื่ออายุตั้งแต่ 2 เดือน ขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุ 4 เดือน และ 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้งในช่วงอายุ 12 - 15 เดือน นอกจากนี้แนะนำให้ฉีดในผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสและอาจมีอาการรุนแรงได้ เช่น เด็กที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่มีม้าม ธาลัสซีเมีย โรคเรื้อรังของอวัยวะต่างๆ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคตับ โรคไต เบาหวาน เป็นต้น
   หลังจากฉีดวัคซีน ทารกหรือเด็กบางรายอาจมีอาการงอแง ปวด แดง บวมบริเวณที่ฉีดยา แต่ในบางรายอาจมีรอยแดงหรือบวมบริเวณรอบๆ บริเวณที่ฉีด รวมถึงอาจมีไข้ หรือมีอาการบางอย่างเล็กๆ น้อยๆ จากการที่ร่างกายกำลังสร้างภูมิต้านทาน หากคุณพ่อคุณแม่เห็นอาการที่ผิดปกติที่รุนแรง หรือมีความวิตกกังวลกับอาการที่เกิดขึ้น ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

 

สนับสนุนข้อมูลโดย: พญ.เบญจวรรณ สังฆวะดี แพทย์เฉพาะทางกุมารเวชศาสตร์ โรคระบบทางเดินหายใจ
ศูนย์การแพทย์ : ศูนย์กุมารเวชกรรม โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมโทร. 1745 ต่อ ศูนย์กุมารเวชกรรม

Go to top
Copyright © 2019 Bangpakok Hospital All rights reserved.